เกาหลี-รัสเซียร่วมวิจัย ส่งกิมจิเป็นเสบียงสู่ดาวอังคาร - ข่าวอุตสาหกรรม [Industrial News]

Thursday, September 10, 2009 at 8:12 PM

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 กันยายน 2552 18:58 น.




เกาหลีใต้จับมือรัสเซียทดลองความเป็นไปได้ ลำเลียงกิมจิเป็นเสบียงสู่ดาวอังคาร
พร้อมอาหารสัญชาติเกาหลีอีก 3 อย่าง เบื้องต้นเตรียมทดลองให้นักบินกินอาหารประจำชาติแดนโสม เป็นเวลา 120 วัน แล้ววัดผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ทั้งนี้เอเอฟพีรายงานว่า สถาบันวิจัยพลังงานปรมาณูเกาหลี (Korea Atomic Energy Research Institute) ได้ลงนามข้อตกลงกับสถาบันด้านประเด็นชีวการแพทย์หรือไอเอ็มบีพี (Institute of Biomedical Problems: IMBP) ในกรุงมอสโกว ประเทศรัสเซีย ในการร่วมมือวิจัยอาหารพร้อมทาน จากอาหารประจำชาติของเกาหลี 4 อย่าง ได้แก่ บุลโกกีหรือเนื้อย่างแบบเกาหลี พิพิมพัพหรือข้าวยำเกาหลี ซุปสาหร่าย และกิมจิ พร้อมด้วยเครื่องดื่มอีก 2 ชนิด

การวิจัยถูกออกแบบเพื่อประเมินว่า เที่ยวบินสู่ดาวอังคารที่ขับเคลื่อนโดยมนุษย์นั้น มีความเป็นไปได้หรือไม่ และเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ๆ อีกหลายปัญหา โดยจะเริ่มทดลองบบนพื้นโลกก่อน ซึ่งเบื้องต้นจะทดลองในระยะสั้นและจะเริ่มต้นในเดือน มี.ค.53 ซึ่งจะอาศัยอาสาสมัครทั้งหมด 6 คน ทดลองใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เลียนแบบภายในแคปซูลอวกาศนานเป็นเวลา 520 วันหรือประมาณปีกว่า

ภายในข้อตกลงครั้งนี้ ผู้มีอำนาจสั่งการของรัสเซียรับรองว่าอาหารและเครื่องดื่มของเกาหลีนั้นมีความเหมาะสมที่จะเป็นเสบียงให้กับนักบินอวกาศอาสาสมัครเป็นเวลา 120 วัน จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ จะบันทึกผลกระทบที่เกิดขึ้น กับระบบภูมิคุ้มกันของนักบินอวกาศผู้อาสาทำการทดลองจากอาหารที่กิน โดยการเดินทางเป็นรยะเวลาอันยาวนานจะส่งผลอันเลวร้ายต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ด้านสถาบันวิจัยของเกาหลีเองกล่าวว่า การวิจัยอาหารเพื่อภารกิจอวกาศครั้งนี้ จะช่วยให้เกาหลีใต้เตรียมความพร้อมในปฏิบัติการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารเองได้บ้าง อีกทั้งงานวิจัยครั้งนี้ยังจะได้นำไปประยุกต์ในการผลิตอาหารสำเร็จรูปเพื่อกองทัพทหารที่ต้องออกสนามรบ และเตรียมไว้ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ก่อนหน้านี้นักบินอวกาศคนแรกของเกาหลี ได้นำกิมจิอาหารประจำชาติขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อเดือน เม.ย.ปีที่ผ่านมา โดยเดินทางไปกับจรวดของรัสเซีย และเมื่อเดือนที่ผ่านมาเกาหลีก็เพิ่งมีความร่วมมือกับรัสเซียในการยิงจรวดเพื่อส่งดาวเทียมจากพรมแดนตัวเองเป็นครั้งแรก แม้ว่าดาวเทียมจะไม่เข้าสู่วงโคจรก็ตาม
Home | Site Map | RSS Subscribe | Go to top