สัมผัสปีกแห่งสวรรค์กับนักวาดผีเสื้อสมิทโซเนียน "วิชัย มะลิกุล" - ข่าวอุตสาหกรรม [Industrial News]

Friday, September 11, 2009 at 11:25 AM

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 กันยายน 2552 11:12 น.

กล้วยไม้ฟาเลนนอฟซิสปรินเซสจุฬาภรณ์ กับผีเสื้อเหลืองหนามประดับเพชร
ดอกคูณหรือดอกราชพฤกษ์
ดอกไม้ประจำชาติกับภาพผีเสื้อถุงทอง
ดอกแมกโนเลียและภาพผีเสื้อแสงจันทร์ ซึ่งใช้เทคนิคพิเศษวาดภาพปีกผีเสื้อมีสีเปลี่ยนไปตามมุมสะท้อนต่างๆ
วิชัย มะลิกุล กับผลงานภาพวาดดอกไม้ชื่อพระราชทานและผีเสื้อ
วิชัย มะลิกุล กับผลงานผู้รับอบรมวาดภาพวิทยาศาสตร์
ภายในห้องทำงานที่สมิทโซเนียน
ภาพผีเสื้อกับดอกเบิร์ดออฟพาราไดส์
ภาพร่างมดในยางสนอายุกว่า 30 ล้านปี
ดอกมหาพรหมราชินีกับผีเสื้อ
ดอกโมกราชินี
ความสวยงามคือความ ถูกต้อง

เป็นนิยามความงามของภาพวาดวิทยาศาสตร์ที่ วิชัย มะลิกุล ผู้คร่ำหวอดในการวาดภาพผีเสื้อให้กับนักวิทยาศาสตร์แห่ง สมิทโซเนียน คลังความรู้ขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เป็นเวลากว่า 40 ปี และวันนี้เขากำลังก้าวไปอีกขั้น กับการวาดภาพดอกไม้ชื่อพระราชทาน

วิชัย มะลิกุล เป็นนักวาดภาพวิทยาศาสตร์ของภาควิชากีฏวิทยา สถาบันสมิทโซเนียน ในวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ เขาทำงานอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่ พ.ศ.2510 และมีผลงานภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ ที่แสดงลักษณะตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทางกีฏวิทยาหลายร้อยชนิด แต่ที่สร้างชื่อให้แก่เขามากที่สุด คือ ภาพวาดสีน้ำรูปผีเสื้อ ซึ่งคว้ารางวัลภาพวาดดีเด่นจากงานประชุมการติดต่อสื่อสารทางด้านชีววิทยา ระดับโลก (World Congress of Biocommunications) เมื่อปี 2547 และเขาเองยังยอมรับว่า ภาพวาดผีเสื้อเป็นผลงานที่เขาภูมิใจอย่างยิ่ง
(ผีเสื้อถุงทองธรรมดา ตัวผู้)ภาพวาดผีเสื้อของวิชัย ศิลปินวัยดึกผู้นี้ยังเป็นภาพประกอบในคู่มือหนังสือแนะนำผีเสื้อในแถบตอนเหนือของเม็กซิโกขึ้นไปถึงสหรัฐฯ และแคนาดา (Field Guide to Eastern Butterflies) ซึ่งวางจำหน่ายและได้รับการยอมรับทั่วโลก อีกทั้งผลงานหลายชิ้นของเขายังจุดประกายให้หลายๆ คนสนใจภาพวาดทางวิทยาศาสตร์

ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์นี้ต่างจากภาพวาดอื่นๆ อย่างไรนั้น ศิลปินผู้ถ่ายทอดความจริงของธรรมชาติกล่าวว่า จะวาดภาพในงานนี้ต้องไม่แต่งเติมส่วนที่ไม่ใช่องค์ประกอบจริงในธรรมชาติ ซึ่งแม้ในทางศิลปะจะสวยงาม แต่ก็ใช้ประโยชน์ในงานทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้

อีกทั้งภาพวาดยังให้รายละเอียดที่การถ่ายภาพไม่สามารถให้ได้ และช่วยขยายภาพสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ อาทิ ยุง ผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก เป็นต้น อีกทั้งภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ยังทำให้วิชาต่างๆ ในทางวิทยาศาสตร์เป็นที่เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น กว่าการบรรยายด้วยตัวหนังสืออย่างเดียว

ตัวอย่างการใช้ประโยน์ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์กรณีหนึ่งที่วิชัยได้กล่าวถึงคือ กรณีนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้เข้ามาเก็บตัวอย่างผีเสื้อกลางคืนจากเขาใหญ่ของไทย แล้วไม่สามารถระบุสปีชีส์ได้ จึงส่งตัวอย่างไปสมิทโซเนียนเพื่อเปรียบเทียบกับภาพวาดที่จำแนกผีเสื้อกลางคืนชนิดต่างๆ เก็บไว้ สุดท้ายจึงทราบว่าผีเสื้อดังกล่าวเป็นสปีชีส์ใหม่ จึงได้ขอพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนฯ ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น
(ผีเสื้อปลายปีกส้มใหญ่)
วิชัยได้เริ่มงานด้านภาพวาดวิทยาศาสตร์โดยทำงานร่วมกับเจ้านายฝรั่ง ซึ่งเข้ามาวิจัยเรื่องยุงก้นปล่องตัวเมียพาหะของโรคมาลาเรียในยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งยุคนั้นทหารอเมริกันเป็นโรคเขตร้อนนี้จำนวนมาก โดยมีห้องปฏิบัติการวิจัยอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฏ หน้าที่ของเขาคือการวาดภาพยุงก้นปล่องตัวเมีย จากนั้นเมื่อเจ้านายของเขาได้เดินทางกลับสหรัฐฯ และได้ตั้งศูนย์วิจัยการแพทย์เพื่อวิจัยเกี่ยวกับยุงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในสมิทโซเนียน และได้ชักชวนเขาไปร่วมกันด้วยในปี 2510

วาดภาพยุงลายอยู่ที่สมิทโซเนียนนานถึง 16 ปี จนมียุงลายที่จับไปจากเชียงใหม่ ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามชื่อของเขาคือ มะลิกุไล (maliguli)

จากนั้นเขาได้เริ่มต้นวาดภาพผีเสื้อ มดและแมลงปีกแข็ง เพื่อประกอบการวิจัยด้านกีฏวิทยาของนักวิทยาศาสตร์ในสมิทโซเนียน และแรงจูงใจให้เขาหันมาวาดภาพผีเสื้อ ส่วนหนึ่งเพราะผีเสื้อเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เมื่อเป็นตัวหนอนจะชอนไชใบไม้สร้างความเสียหายให้แก่พืชเศรษฐกิจ นอกจากนี้เขายังได้รับหน้าที่ให้วาดภาพมด ที่ติดอยู่ในยางสนอายุกว่า 30 ล้านปีด้วย

นอกจากวาดภาพสร้างผลงานเป็นของตัวเองแล้ว นักวาดภาพวิทยาศาสตร์ผู้นี้ ยังเดินทางกลับมาอบรมและถ่ายทอดเทคนิคการวาดภาพวิทยาศาสตร์ให้กับผู้สนใจในเมืองไทยอยู่หลายครั้ง

การอบรมให้ความรู้เทคนิคการวาดภาพวิทยาศาสตร์นี้เอง วิชัยถือเป็นอีกผลงานที่เขาภาคภูมิใจ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจากเขาส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการในสาขาชีววิทยาและกีฎวิทยา ที่มีความเข้าใจในหลักการและธรรมชาติของสิ่งที่วาดอยู่แล้ว แต่ได้มาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการวาดภาพ โดยลูกศิษย์ของวิชัยตอนนี้มีอยู่ราว 400 คนแล้ว
(ผีเสื้อเหลืองหนามประดับเพชร)

วันนี้วิชัยกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดอีกครั้ง พร้อมหอบหิ้วต้นฉบับภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ของเขาเอง มาจัดแสดงในนิทรรศการ "ปีกจากสวรรค์และภาพดอกไม้ชื่อพระราชทาน" ที่จัดขึ้นโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ระหว่างวันที่ 8-24 ก.ย.52 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. คลองห้า ปทุมธานี

ภาพที่เขานำมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นภาพผีเสื้อกว่า 200 ชนิด พร้อมด้วยภาพดอกไม้ชื่อพระราชทานอีก 7 ชนิดที่ตกแต่งด้วยภาพผีเสื้อพันธุ์ไทย ซึ่งเขาตั้งใจจะวาดภาพดอกไม้ชื่อพระราชทานให้ครบทุกชนิดและรวบรวมเป็นตำรา

"ผมอยากวาดภาพดอกไม้ชื่อพระราชทานให้ครบ ด้วยความจงรักภักดีต่อราชวงศ์ และด้วยความตั้งใจที่จากประเทศชาติไปนาน จึงอยากจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ" วิชัยกล่าวถึงความตั้งใจกับงานชุดล่าสุดทีกำลังสร้างสรรค์ขึ้นมา.





(ผีเสื้อกลางคืนหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก)

....

สำหรับผู้สนใจผลงานของ วิชัย มะลิกุล สามารถติดตามชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. คลองห้า ปทุมธานี โดยเปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.30-16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2577-9999 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.nsm.or.th
Home | Site Map | RSS Subscribe | Go to top