กรมการขนส่งทางน้ำฯ เร่งพัฒนาโลจีสติกส์ เปิดประตูสู่การค้าระหว่างประเทศ - ข่าวอุตสาหกรรม [Industrial News]

Tuesday, November 10, 2009 at 1:06 PM

วันที่ 2009-11-09 19:41:32
(ข่าวอุตสาหกรรม Industrial News)

 
กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เดินหน้าพัฒนาระบบการขนส่ง
หวังช่วยลดต้นทุนการขนส่ง  เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันการส่งสินค้าออกต่างประเทศ
 .
นายชลอ คชรัตน์ อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มีการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ ซึ่งการขนส่งทางน้ำเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่ง ช่วยประหยัดพลังงาน และลดปัญหาต่างๆ ด้านการจราจร
 
การพัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเชื่อมโยงกับการพัฒนาการขนส่งทางน้ำและเร่งรัดพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ของประเทศไทย จึงเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน               
 
ได้แก่ ภาคเหนือโดยการพัฒนาท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดเชียงราย และความตกลงการเดินเรือในแถบแม่น้ำโขงโดยการรวบรวมสินค้าจากพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนและสินค้านำเข้าจากจีนลงมากระจายเพื่อการส่งออกไปยังท่าเรือหลักและภูมิภาค                             
 
โดยท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 ได้ดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้มีการออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าบริเวณภาคเหนือตอนบนเชื่อมโยง การขนส่งมายังภาคกลางที่ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือระนอง เพื่อการส่งออกและเพื่อเป็นประตูการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติในหลักการให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีดำเนินการก่อสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 
 
ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นโครงการที่สำคัญตามยุทธศาสตร์การพัฒนาการขนส่งทางน้ำและทางรางเป็นหลัก โดยมีถนนเชื่อมโยงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ปี 2550-2554 และสอดคล้องกับแผนแม่บทในยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ในประเทศให้เชื่อมโยงอย่างบูรณาการทั้งเครือข่ายภายในประเทศและการเชื่อมต่อไปสู่ต่างประเทศ
 
โดยมีเป้าหมายของโครงการคือ การปรับปรุงแบบท่าเรือให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการใช้งานท่าเทียบเรือ รวมทั้งให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอไว้
 
นายชลอ กล่าวต่อไปว่า “การก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าทางลำน้ำเพื่อการประหยัดพลังงานของภาคกลาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ซึ่งเป็นระบบการขนส่ง Mass Transportation ให้เกิดการเชื่อมโยงการขนส่งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงออกสู่ชายฝั่งทะเล 
 
เพื่อการส่งออกที่เขตท่าเรือศรีราชา และท่าเรือแหลมฉบัง อันเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรทางบกในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และประหยัดพลังงานของประเทศ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การขนส่งทางน้ำเป็นวิธีการขนส่งที่ช่วยลดการใช้พลังงานของประเทศได้
 
ส่วนภาคตะวันออกโดยการก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด เพื่อเป็นประตูการค้าชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยก่อสร้าง ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ที่อำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด เพื่อพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางน้ำ

พร้อมกับการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนกลับมาใช้ การขนส่งทางน้ำมากยิ่งขึ้น เพื่อก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของการขนส่งสินค้าและธุรการการท่องเที่ยวในภูมิภาค อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

“สำหรับภาคใต้ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี มีโครงการพัฒนาท่าเรือในพื้นที่ภาคใต้พร้อมกับการประสานงานให้เกิดการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในภาคใต้เป็น Land Bridge เชื่อมทะเลอ่าวไทยกับอันดามัน ได้แก่ 1.การพัฒนาภาคใต้ตอนบนระหว่างชุมพรกับระนอง

โดยการพัฒนาท่าเรือที่จังหวัดชุมพร เพื่อการขนส่งเชื่อมโยงโดยเรือเฟอร์รี่ระหว่างภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออกเชื่อมไปสู่ฝั่งตะวันตก เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ช่วยประหยัดพลังงานและช่วยลดการจราจรแออัดและอุบัติเหตุ และการพัฒนาท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ระนอง จ.ระนอง เพื่อเป็นท่าเรือหลักบริเวณภาคใต้ตอนบนด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อสนับสนุนการค้ากับประเทศ เพื่อนบ้านในพื้นที่ BIMST-EC และ GMS-EC

รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่หลังท่า เพื่อเป็นศูนย์ ICD และศูนย์แปรรูปอุตสาหกรรมส่งออกและบริโภคภายในประเทศ ตลอดจนระบบการคมนาคมครบวงจร 2.การพัฒนาภาคใต้ตอนล่างระหว่างสงขลากับสตูล โดย ขน. มีแผนในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล เพื่อเป็นประตูการค้าทางทะเลฝั่งอันดามันเชื่อมโยงศูนย์กลางการขนส่ง / ขนถ่ายสินค้าทางทะเลไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และทวีปยุโรป

นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงชายฝั่งทะเลอันดามัน อ่าวไทย และชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยการพัฒนาท่าเรือ น้ำลึก บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ( ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ) เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่างให้สามารถรองรับเรือขนาดประมาณ 50,000 - 70,000 เดทเวทตันได้ รวมทั้งพัฒนาระบบคมนาคมครบวงจรเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นายชลอ กล่าว (ข่าวอุตสาหกรรม Industrial News)
Home | Site Map | RSS Subscribe | Go to top