2 ปัจจัยลบทุบราคาเหล็กร่วง - ข่าวอุตสาหกรรม [Industrial News]

Monday, November 2, 2009 at 6:19 PM

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552
(ข่าวอุตสาหกรรม Industrial News)

2 ปัจจัยลบทุบราคาเหล็กร่วง

สถาบันเหล็กฯ ชี้ราคาเหล็ก จะอ่อนตัวลง
แค่ระยะสั้นๆเท่านั้น อันเป็นผลพวงมาจากผู้ผลิตจีนยังมีกำลังผลิตส่วนเกินในประเทศ ยอมรับปีนี้ราคาเหล็กไม่ได้ปรับตัวหวือหวาแบบปีก่อน แต่มั่นใจโค้งท้ายปีกำลังซื้อจะกลับมา ด้านกรุงเทพผลิตเหล็กฯ เห็นพ้องราคาเหล็กเส้นที่ผันผวนตัวเป็นเพราะราคาบิลเล็ตจากยูเครนร่วงอีก แนวโน้มดิ่งลงอยู่ที่ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน

นายวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในช่วงโค้งสุดท้ายหรือไตรมาสที่สี่ปีนี้ว่า ถือเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้เหล็กในประเทศสูงไปถึงไตรมาสแรกปีหน้า เนื่องจากเป็นช่วงที่ฤดูฝนสิ้นสุดลง และอยู่ในช่วงหน้าแล้ง รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในตลาดโลกดีขึ้น กำลังซื้อเริ่มกลับมา ขณะที่สถานการณ์ราคาเหล็กกลับมาอ่อนตัว เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้ โดยราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในตลาดโลกจากเคยยืนอยู่ที่ระดับ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ราคาก็ร่วงลงมาอยู่ที่500กว่าดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรืออย่างราคาเหล็กเส้นในประเทศที่อยู่ในระดับ 20,000บาท/ตัน ขณะนี้ก็หล่นมาอยู่ในระดับ 19,000บาท/ตัน เช่นเดียวกัน

สาเหตุที่ราคาเหล็กอ่อนตัวลงมาขณะนี้ เกิดจากผู้ผลิตเหล็กในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำลังผลิตส่วนเกินในประเทศ อันเป็นผลพวงมาจากกรณีที่ราคาเหล็กขยับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ จึงทำกลุ่มผู้ผลิตเหล็กที่เคยหยุดผลิตหรือปิดตัวในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกก็หันมาผลิตต่อ เพราะเห็นว่าราคาจูงใจ

ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวลงของราคาเหล็กช่วงนี้ จะเป็นช่วงระยะสั้นๆเท่านั้น ทั้งนี้เพราะในช่วงไตรมาสสี่ถึงไตรมาสแรกในปีถัดไป จะเป็นช่วงที่ตลาดเหล็ก จะขยับตัวได้ดีกว่าช่วงอื่น นอกจากนี้ยังมองว่าการขึ้นลงของราคาเหล็กในปี 2552 ไม่ได้หวือหวาแบบปี 2551 ซึ่งช่วงนั้นไม่ใช่ดีมานด์จริงแต่เป็นการปั่นราคา ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่านับจากปลายปี 2552 นี้เป็นต้นไป อุตสาหกรรมเหล็กน่าจะกลับมาเป็นปกติ

เมื่อถามถึงบรรยากาศการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ นายวิกรม ให้ความเห็นว่า ต้องยอมรับจากปัญหาการเมืองและกรณีมาบตาพุดรวมไปถึงปัญหาความไม่ชัดเจนในเรื่องนโยบาย เป็นส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสการเข้ามาลงทุนของทุนต่างชาติให้กับชาติคู่แข่ง เพราะความจริงแล้วเม็ดเงินลงทุนอยากไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเขาไม่มาไทยก็ต้องไหลไปเวียดนาม
นอกจากนี้เขายังกล่าวย้ำถึงความตั้งใจของสถาบันเหล็กฯ ว่าจะเดินหน้าผลักดันในเรื่องการศึกษาเชิงลึกในแง่โครงการถลุงเหล็กในพื้นที่ลงทุน หลังจากที่ก่อนหน้านั้นทำการศึกษาไว้เป็นภาพกว้างๆ เพราะขณะนี้ได้งบประมาณกลางปี 2553 สำหรับใช้ในการศึกษาเชิงลึกในโครงการถลุงเหล็กแล้ว 38 ล้านบาท แต่ล่าสุดยังรอว่างบประมาณก้อนนี้จะสามารถดำเนินการได้เมื่อไหร่

"ท่าทีของกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่สนใจจะเข้ามาลงทุนผลิตเหล็กต้นน้ำในไทยในขณะนี้ ยังไม่มีท่าทีว่าจะล้มโครงการ ยังให้ไทยเป็นทางเลือกแรก เพราะต้องการผลิตเพื่อขายในตลาดอาเซียน และการที่อาเซียนเซ็นเอฟทีเอกับอินเดีย ก็จะเป็นโอกาสให้ไทยสั่งสินค้าต่างๆไปขายในอินเดียได้ง่ายขึ้น ในแง่บริษัทญี่ปุ่นเองก็อยากจะย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในอาเซียน "

สอดคล้องกับที่ บริษัท กรุงเทพผลิตเหล็ก จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเหล็กเส้น ที่กล่าวถึงสาเหตุที่ราคาเหล็กเส้นลดลงมาอยู่ที่ 19,000 บาท/ตันจาก 20,000 บาท/ตันนั้น เนื่องจากราคาบิลเล็ต ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กเส้น ในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ราคายังอยู่ที่520 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน แต่พอผ่านมา10 กว่าวัน ราคาลดเหลือเพียง 480 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ทำให้เหตุภาวะนิ่งของระบบการซื้อขาย เนื่องจากเอเยนต์ไม่มีการซื้อบิลเล็ตตุนไว้ เนื่องจากคาดหวังว่าราคาจะมีแนวโน้มลดลงไปอีก โดยเฉพาะบิลเล็ตที่มาจากประเทศยูเครนราคาจะถูกมาก และมีการคาดการณ์ว่าราคาจะลงไปถึง 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน

"คาดว่าราคาเหล็กเส้นและเหล็กแผ่น จะอ่อนตัวลงในระยะสั้นๆนี้เท่านั้น ไม่น่าจะลากยาว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องดูองค์ประกอบด้านต้นทุนพลังงานนับจากนี้ไปด้วย รวมถึงการติดตามดูสถานการณ์การบริโภคเหล็ก หลังจากที่เศรษฐกิจโลกเริ่มขยับตัวได้บ้างแล้วประกอบด้วย"




จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2,475 01 พ.ย. - 04 พ.ย. 2552 (ข่าวอุตสาหกรรม Industrial News)
Home | Site Map | RSS Subscribe | Go to top