ผู้ผลิตเหล็กตีปีก ราคาแตะแดนบวก มาตรการ'ไทยเข้มแข็ง'ตัวช่วยเพิ่มดีมานด์ - ข่าวอุตสาหกรรม [Industrial News]

Thursday, September 10, 2009 at 2:13 AM

วันที่ 3 กันยายน 2552
(ข่าวอุตสาหกรรม Industrial News)

ผู้ผลิตเหล็กตีปีก ราคาแตะแดนบวก มาตรการ'ไทยเข้มแข็ง'ตัวช่วยเพิ่มดีมานด์

พลันที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการไทยเข้มแข็งด้วยสัดส่วนการลงทุนงบประมาณ 800,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในโครงการพื้นฐานเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ

โครงการถนนปลอดฝุ่น และอีกหลายโปรเจ็กต์ ทำให้ภาคเอกชนเริ่มมีความหวังว่าจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีทางออก โดยเฉพาะโครงการลงทุนต่อเนื่องอย่างอาคารสำนักงานคอนโดมิเนียม และขยายผลไปสู่การใช้วัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะ เหล็กเส้น ที่เวลานี้เป็นที่คาดการณ์กันว่าราคาจะขยับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4 ปีนี้
++มั่นใจราคาขยับตัวถึงไตรมาส 4

นายสันติ ชาญกลราวี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TSTH ผู้ผลิตเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กเริ่มขยับตัวได้แล้ว สังเกตได้จากที่ราคาเหล็กเส้นในช่วงไตรมาส 3 เริ่มขยับตัวได้ โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาส 4 ก็จะสูงขึ้นไปอีก โดยมั่นใจว่าขณะนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดของราคาเหล็กที่ตกต่ำลงไปแล้ว
ทั้งนี้ราคาเหล็กเส้นช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2551 ราคายืนอยู่ที่ 35,000 บาท/ตัน ขณะนี้ราคาได้ขยับจาก 15,000-16,000 บาท/ตันในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจมาเป็นราคา 19,000 บาท/ตันแล้วโดยราคาค่อยๆกลับมาอยู่ในแดนบวกมากขึ้น โดยมองว่าอานิสงส์ที่ราคาเหล็กเส้นขยับตัวได้มาจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายในเกิดจากที่นโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการไทยเข้มแข็งประมาณ 800,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในโครงการพื้นฐานเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ โครงการถนนปลอดฝุ่น จึงส่งผลให้สถานการณ์ของราคาวัสดุก่อสร้างขยับตัวได้ ส่วนปัจจัยภายนอกมาจากที่แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มไต่เพดานสูงขึ้นด้วย
++เอสซีจีชี้โครงการต่อเนื่องแห่ผุด

ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี กล่าวว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาเริ่มทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนปลอดฝุ่น ที่จะทำให้เกิดการจ้างงาน นักลงทุนด้านอสังหาฯเกิดความมั่นใจที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงการต่อเนื่องขึ้น เช่น เกิดออฟฟิศ และคอนโดมิเนียมใกล้รถไฟฟ้าสายดังกล่าว ซึ่งโครงการเหล่านี้จะเกิดขึ้นก่อนเพื่อให้ทันกับโครงการรถไฟฟ้าฯในช่วง3-4 ปี จากนี้ไป

สำหรับราคาวัสดุก่อสร้างจะขึ้นอยู่กับตลาดที่ขณะนี้กำลังผลิตวัสดุบางรายการยังล้นตลาดอยู่ แต่คาดการณ์ว่าในปี 2553 วัสดุก่อสร้างบางรายการราคาน่าจะกลับมา
++ส.อ.ท.ติงระวังเหล็กตึงตัว

สอดคล้องกับนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า ราคาเหล็กขณะนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น มีสาเหตุมาจากสถานการณ์ตลาดทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาคเริ่มปรับตัวไปในทิศทางบวก อย่างไรก็ตาม ราคาเหล็กในปีนี้คงไม่ขึ้นแรงเหมือนกับปีที่ผ่านมา เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว หากสิ่งที่น่าจับตาคือ ภาวะเหล็กตึงตัว เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในตลาดโลกมีมากขึ้น แต่ผู้ผลิตรายใหญ่ อาทิ ญี่ปุ่น และ เกาหลี ยังคงรอดูสถานการณ์และยังไม่กล้าเพิ่มกำลังการผลิต

"ขณะนี้ผู้ผลิตที่หยุดกำลังผลิตบางส่วนไป ยังคงรอดูว่าดีมานด์จะกลับมาหรือไม่ และมีความคงที่ต่อเนื่องหรือไม่ ดังนั้น ในช่วง 1-2 เดือนนี้ เหล็กน่าจะยังคงตึงตัวแต่ไม่ถึงขั้นขาดแคลน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดันให้ราคาเหล็กสูงขึ้น ถ้าในไตรมาสที่ 4 ดีมานด์มีความชัดเจน ผู้ผลิตตัดสินใจเพิ่มกำลังผลิตราคาก็อาจมีการปรับตัวลดลงบ้างตามกลไกตลาด ทั้งนี้ มีข้อแนะนำต่อผู้ประกอบการว่าอย่าเก็งกำไร หากจะสต๊อกสินค้าก็ควรทำในระดับที่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการใช้งานเท่านั้น เพราะราคาค่อนข้างมีความผันผวน"

สำหรับราคาเศษเหล็กขณะนี้อยู่ที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม สูงขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกซึ่งอยู่ที่ 9 บาท ส่วนเหล็กเส้นมีราคาประมาณ 19 บาทต่อกิโลกรัม สูงขึ้นจากระดับ 15-16 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงไตรมาส 1-2/2552 ด้านความต้องการใช้เหล็กในประเทศไทยนั้น มองว่าปีนี้น่าจะอยู่ที่ 10-11 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 20-25% โดยการใช้เหล็กในภาคอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ภาคขนส่งที่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เหล็กแผ่นจะฟื้นตัวเร็วกว่าเหล็กเส้นในกลุ่มอสังหาฯ และเมกะโปรเจ็กต์ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่อย่าง รถไฟฟ้า หรือ ถนนปลอดฝุ่น กว่าที่จะมีการใช้เหล็กจริง คงเป็นช่วงไตรมาส 3/2553

++ยังมีโอกาสเก็งกำไรเหล็กเกิดขึ้น
นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกที่มีสัญญาณบวกทำให้มั่นใจว่าครึ่งปีหลังปัจจัยบวกน่าจะมีให้เห็นมากกว่าปัจจัยลบ อย่างไรก็ตาม มิลล์คอนยังคงบริหารงานแบบระมัดระวังและมีวินัย เพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้งจากความผันผวนของราคาเหล็ก กระแสเงินสด และอื่นๆ

"เราอยากให้ดีมานด์และซัพพลายมีเสถียรภาพ ไม่อยากเห็นราคาเหล็กขึ้นไปสูงมาก เพราะไม่เป็นผลดีต่อต้นทุนการผลิตและตลาด ทั้งนี้ ได้พยายามทำความเข้าใจกับลูกค้าว่าอย่าเก็งกำไร แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดการเก็งกำไรเช่นเดียวกับปีที่แล้วได้อีก เพราะเหล็กเป็นสินค้าคอมมิวนิตี"
++SSIมั่นใจครึ่งหลังไปโลด
|
นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัท ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งด้านรายได้จากการขาย และกำไรสุทธิ เมื่อเทียบกับจากไตรมาสแรกปี 2552 โดยมีรายได้จากการขาย 7,776 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ16 จาก 6,724 ล้านบาทของไตรมาสแรกปี 2552 และมีกำไรสุทธิ 683.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 136 จาก ผลขาดทุนสุทธิ 1,878 ล้านบาทของไตรมาสแรกปี 2552 คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.05 บาท และมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (D/E) อยู่ที่ระดับ1.3 เท่า ดีขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.5 เท่า

เอ็มดีSSI อธิบายว่าผลกำไรที่เกิดขึ้นไตรมาส 2/2552 นี้ มาจากปริมาณยอดขายที่เพิ่มขึ้นถึงอัตราร้อยละ 16 และได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเพราะการบริการลูกค้าที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ค่าการรีด (Rolling Spread) ยังอยู่ในระดับที่ดี จากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำ ในขณะที่ราคาขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนค่อนข้างดี สิ่งที่สำคัญคือบริษัทสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้มากขึ้น ทั้งจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และต้นทุนพลังงานที่ลดลง

กรรมการผู้จัดการ เอสเอสไอ กล่าวว่าในส่วนของภาวะอุตสาหกรรมเหล็กโลกนั้นหลังจากที่ความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจได้ส่งผลต่อปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กที่ลดลงส่งผลให้การผลิตเหล็กโลกหดตัวรวมถึงราคาที่ลดลงตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 2551 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2552 และได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะนี้อุตสาหกรรมเหล็กได้กลับมาเติบโต โดยมีสัญญาณในทางที่ดีในด้านราคาเริ่มที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่สอง นอกจากนี้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ กำลังฟื้นตัวและมีการกลับมาซื้อของผู้ใช้ (Restocking) จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาลในหลายประเทศ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อุตสาหกรรมเหล่านี้มีความต้องการใช้เหล็กแผ่นที่มีคุณภาพสูงเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดสินค้าเหล็กแผ่นชั้นคุณภาพพิเศษดังกล่าวให้เติบโตตามไปด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2,457 30 ส.ค. - 02 ก.ย. 2552 (ข่าวอุตสาหกรรม Industrial News)
Home | Site Map | RSS Subscribe | Go to top