ตามไปสัญจรคุยกันฉันวิทย์ที่ "ทรูคอฟฟี่" กับเด็กสยาม - ข่าวอุตสาหกรรม [Industrial News]

Monday, September 14, 2009 at 12:30 PM

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 กันยายน 2552 11:27 น.

เล่าเรื่องสัตว์รอบตัวและแรงบันดาลใจจากธรรมชาติด้วยภาพจากโปรแกรมนำเสนองานคอมพิวเตอร์
หนูน้อยกับของเล่นที่ใช้เปลือกไข่ระบายสีติดกับพัดลมมือถือ
เด็กๆ ทำการทดลองเขียนจดหมายล่องหน
เด็กๆ หลบไปรอดูการทดลองใส่ลูกโป่งในเตาไมโครเวฟ
ก.วิทย์สัญจรไปคุยกันฉันวิทย์ที่ "ทรูคอฟฟี่" เป็นสัปดาห์ที่ 3 ชวนเด็กๆ เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากเรื่องใกล้ตัว หยิบของในครัวมาทดลองเล่น พร้อมจัดต่อเนื่อง 3 เดือน ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อเข้าถึงกลุ่มเด็กสยามผู้ใฝ่รู้และตามเทรนด์ใหม่ๆ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงาน "คุยกัน...ฉันวิทย์สัญจร" เรื่อง "มหัศจรรย์วิทยาศาสตร์ใกล้ตัว" เมื่อวันที่ 13 ก.ย.52 ณ ร้านทรูคอฟฟี่ สยามสแควร์ ซ.3 โดย นางฤทัย จงสฤษดิ์ หัวหน้าฝ่ายสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมทีมงานได้นำกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มาร่วมในกิจกรรมนี้ โดยมีเด็กๆ ร่วมกิจกรรมภายในงานนี้ 4-5 คน

นางฤทัยกล่าวกับทีมข่าว วิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ถึงกิจกรรมที่นำมาเสนอภายในงานว่า โดยภารกิจต้องดูแลงานสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการทดลองและการปฏิบัติ ได้รู้จักสังเกต ทำการทดลองที่เห็นแล้วคิดวิเคราะห์ต่อได้ โดยมีกิจกรรมที่นำมาเสนอ 2-3 เรื่อง อย่างแรกคือ เรื่องการสังเกตธรรมชาติผ่านโปรแกรมนำเสนองานด้วยคอมพิวเตอร์ โดยยกตัวอย่างการสังเกตธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความคิดต่างๆ

"ปีกค้างคาวทำให้เกิดเครื่องร่อน "แมลงตด" ที่ท้องมีแรงดันและความร้อน ซึ่งถึงจุดหนึ่งจะปล่อยออกมา ซึ่งนำไปสู่การประดิษฐ์เครื่องดับเพลิงหรือเครื่องช่วยหายใจ ด้วงขี้ควายที่ปั้นขี้ควายเป็นก้อนกลมๆ เพื่อให้ไข่ฟักอยู่ภายในและสามารถกลิ้งไปในที่ต่างๆ ได้ หรือจิ้งจกกับตุ๊กแกที่ติดบนฝาผนังก็มีกลไกที่นำมาสอนเด็กๆ ได้ เราอยากให้เห็นว่าสัตว์ที่อยู่รอบๆ ตัวก็นำมาสอนเรื่องวิทยาศาสตร์ได้" นางฤทัยกล่าว

กิจกรรมถัดมาคือการนำอุปกรณ์ที่อยู่รอบตัวจากห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องนอนและห้องน้ำ มาใช้เพื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เช่น นำเปลือกไข่มาระบายสีและติดพัดลมมือขนาดเล็กให้หมุน ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องสีได้ หรือนำขวดสบู่และแชมพูมาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องสารเคมี และสอนให้รู้ว่าภายในสบู่และแชมพูนั้นมีสารที่ทำให้เกิดฟองและนำไปเป่าเป็นฟองได้ ทั้งนี้นางฤทัยกล่าวว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ไม่จำเป็นต้องมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก เพราะอยากให้เด็กทุกคนได้มีส่วนร่วม ที่สำคัญอยากให้ผู้ปกครองอยู่ร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อให้ครอบครัวได้กลับไปคุยกันด้วยภาษาเดียวกัน

ด้านนางกรอุมา ธีรวิวัฒน์วงศ์ ผู้ตรวจสอบอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ปกครองซึ่งนำลูกสาวและลูกชายวัยประถมจากโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาร่วมกิจกรรม กล่าวว่าทราบเรื่องการจัดงานจากข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จึงได้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม โดยทั้งลูกสาวและลูกชายสนใจในเรื่องดาราศาสตร์และอวกาศจึงติดตามข้อมูลด้านนี้อยู่เป็นประจำ ซึ่งลูกสาวคนโตอยากเป็นนักดาราศาสตร์ ขณะที่ลูกชายคนเล็กอยากเป็นนักบินอวกาศ และทางครอบครัวพร้อมสนับสนุนในสิ่งที่ลูกๆ สนใจ

"วันอาทิตย์ลูกๆ จะเรียนวาดรูปในช่วงเช้า และช่วงเย็นจะเรียนว่ายน้ำ ดังนั้นช่วงบ่ายจะว่าง ซึ่งปกติจะพาลูกๆ ไปอ่านหนังสือที่อุทยานวิทยาศาสตร์ที่จามจุรีสแควร์ พอมีกิจกรรมนี้ก็พอดีกับช่วงบ่ายที่ว่าง ต่อไปจะพาลูกมาร่วมทุกอาทิตย์ ทั้งนี้การวางแผนการศึกษาจะดูว่าลูกๆ ชอบด้านไหน และจะสนับสนุนให้ลูกได้เรียนรู้ในด้านที่มีกิจกรรมให้ทำ ซึ่งที่ไปบ่อยคือกิจกรรมรวมพลคนรักดาวของสมาคมดาราศาสตร์ที่จัดขึ้นทุกเดือน และที่ท้องฟ้าจำลอง" นางกรอุมาเผย

ส่วน ด.ญ.กชพร และ ด.ญ.ภัทรภร พลอยจิระชัย สองพี่น้องชั้น ป.2 และ ป.6 จากโรงเรียนสารสาสน์วิเทศศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกมาติวคณิตศาสตร์ที่สยาม แล้วมีพี่ๆ (เจ้าหน้าที่) ชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมนี้ ส่วนครั้งล่าสุดนี้คุณพ่อพามาร่วมกิจกรรมอีกครั้ง และได้เรียนรู้เรื่องกรด-เบส และเขียนผ้าเช็ดหน้าด้วยสีเรืองแสง

สำหรับกิจกรรมคุยกันฉันวิทย์สัญจรนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยนางนิชา หิรัญบูรณะ ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การจัดกิจกรรมนอกพื้นที่นี้เป็นความเห็นฟ้องต้องกันของผู้ใหญ่ในกระทรวงที่ อยากทำกิจกรรมเชิงรุกในการนำวิทยาศาสตร์ออกมาสู่กลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มเป้าหมายในกิจกรรมนี้คือกลุ่มเยาวชนวัยรุ่นที่เดินสยามสแควร์และเรียนพิเศษ ซึ่งมีความใฝ่รู้และตามเทรนด์ใหม่ๆ เสมอ ซึ่งคาดหวังจำนวนผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน

ทั้งนี้กิจกรรมครั้งแรกที่จัดขึ้นก่อนหน้านั้นเป็นเรื่องหุ่นยนต์ และครั้งที่ 2 คือการเสวนาโดยผู้แทนโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งจะมีทีมงานเชิญชวนเยาวชนที่ผ่านไป-มาเข้าร่วม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า โดยสถานที่การจัดงานนั้นได้รับความอนุเคราะห์จากร้านทรูคอฟฟี่ที่ไม่คิดค่าพื้นที่ แต่ทางกระทรวงได้ให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องการบริหารจัดการและค่าเครื่องดื่มที่บริการผู้ร่วมงานฟรี และเบื้องต้นจะจัดงานต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน
Home | Site Map | RSS Subscribe | Go to top