แนะไทยดูเกาหลีเป็นตัวอย่าง ใช้วิทย์สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์จากฐานวัฒนธรรม - ข่าวอุตสาหกรรม [Industrial News]

Thursday, September 24, 2009 at 3:18 PM

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 กันยายน 2552 14:55 น.

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการ ประจำปี 2552 ของเนคเทค
ชอฟต์แวร์ทำนายการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชในแปลงเกษตร หนึ่งในผลงานวิจัยด้านสมาร์ทฟาร์ม
เว็บไซต์รวบรวมท่าฤๅษีดัดตน หนึ่งในงานวิจัยของโครงการดิจิไทย เตรียมเปิดให้ประชาชนไทยเข้าไปหาความรู้ได้ในเร็วๆ นี้
ซอฟต์แวร์รวบรวมข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีของไทย ใช้ส่งเสริมงานทางด้านการท่องเที่ยว
กี่ทอผ้าอัตโนมัติ หนึ่งในโครงการดิจิไทย รวบรวมลายผ้าโบราณ
โครงการสมาร์ทเฮลธ์ เน้นใช้เทคโนโลยี ECTI เพื่อพัฒนางานทางด้านสาธารณสุขและเน้นการรักษาเชิงป้องกัน
ซอฟต์แวร์ช่วยค้นหารูปภาพตามอารมณ์ความรู้สึกจากโทนสีของรูปภาพ ช่วยให้ได้ภาพที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาร่วมกับญี่ปุ่น
"คุณหญิงกัลยา" เป็นประธานเปิดงานการประชุมวิชาการเนคเทค กระตุ้นผู้ประกอบการไทยผลิตธุรกิจสร้างสรรค์ เน้นลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้แข่งขันได้ด้วยเทคโนโลยี ECTI ชี้ให้ไทยดูเกาหลีเป็นตัวอย่าง ใช้กลยุทธ์เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์บวกต้นทุนทางวัฒนธรรมตีตลาดไปทั่วโลก

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 52 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2552 และงานมหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 ก.ย. 52 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี พร้อมกับปาฐกถาพิเศษเรื่อง "เทคโนโลยี ECTI กับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ : การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิต"

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวในระหว่างปาฐกถาว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในอนาคตจะเน้นในทางด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเรามีธุรกิจเชิงสร้างสรรค์เพียง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล

ทว่าขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนแล้วว่าจะมุ่งเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อย่างจริงจัง โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

"ประเทศไทยได้เปรียบต่างชาติ เพราะมีผลผลิตทางการเกษตรมากมาย และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีวัฒนธรรม ขนมธรรมเนียม ประเพณีอันเก่าแก่ที่แตกต่างจากชาติอื่น ซึ่งสามารถใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ECTI ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มได้ หรือใช้เพื่อเก็บข้อมูลและนำเสนอออกมาอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ได้เช่นกัน" ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ทั้งนี้ เทคโนโลยี ECTI ประกอบด้วย เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics), คอมพิวเตอร์ (Computer), การสื่อสาร (Telecommunication) และสารสนเทศ (Information)

ดร.คุณหญิงกัลยา ชี้ให้ดูประเทศเกาหลี ที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ จากการนำเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออก เช่น ภาพยนตร์และซีรีส์ ทำให้เกิดกระแสเกาหลีฟีเวอร์ในหลายด้าน ทั้งแฟชัน อาหาร และการท่องเที่ยว ที่ทำให้ผู้คนจากหลายประเทศหลั่งไหลเข้าไปท่องเที่ยวในเกาหลี สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล และยังมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมฑ์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์จนติดอันดับต้นๆ ในตลาดโลก

สำหรับบทบาทสำคัญของเนคเทคในการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ดร.คุณหญิงกัลยา เปิดเผยว่า เนคเทคมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ECTI ใน 3 โครงการหลัก ได้แก่ ดิจิไทย (Digitized Thailand) โดยนำเทคโนโลยี ECTI เข้ามาช่วยในการจัดระบบข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติ และนำมาใช้ประโยชน์ในด้านธุรกิจการท่องเที่ยว

สมาร์ทเฮลธ์ (Smart Health) พัฒนาเทคโนโลยีเพื่องานด้านสาธารณสุขและมุ่งทางด้านการรักษาเชิงป้องกัน และ สมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) พัฒนาเทคโนโลยีช่วยในการเกษตรตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิตไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาด เพื่อช่วยลดต้นทุน และเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์การเกษตร

ทั้งนี้ งานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2552 และงานมหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติ ครั้งที่ 9 เนคเทคจัดขึ้นเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัยทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์สู่สาธารณะ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน อันนำไปสู่งานวิจัยพัฒนาหรือต่อยอดเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติได้ต่อไป ซึ่งนิทรรศการเด่นในงานนี้ ได้แก่ เทคโนโลยีทางด้านสมาร์ทฟาร์ม, สมาร์ทเฮลธ์ และ ดิจิไทย และอื่นๆ อีกมากมาย
Home | Site Map | RSS Subscribe | Go to top