ระวังจะขำไม่ออก "ก๊าซหัวเราะ - ไนตรัสออกไซด์" จะทำลาย "โอโซน" มากที่สุด - ข่าวอุตสาหกรรม [Industrial News]

Thursday, September 3, 2009 at 10:15 AM

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 กันยายน 2552 14:07 น.

ยวดยานพาหนะบนท้องถนน เป็นหนึ่งในแหล่งปลดปล่อยไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ (เอเอฟพี)
เอ
อาร์ ราวิชาญคารา (กลาง) และทีมนักวิทยาศาสตร์โนอาที่ร่วมกันศึกษาการถูกทำลายของชั้นโอโซนเนื่องจากไนตรัสออกไซด์ (NOAA)
"ก๊าซหัวเราะ" กำลังจะทำให้เราขำไม่ออก หลังโนอาศึกษาโอโซนถูกทำลาย พบ "ไนตรัสออกไซด์" เป็นตัวการใหญ่สุด หลังหมดปัญหาสารซีเอฟซี ชี้ 1 ใน 3 มาจากฝีมือมนุษย์ คาดอาจมีปริมาณมากขึ้นอีกตลอดศตวรรษนี้ หากไม่รีบควบคุมโดยด่วน

องค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศสหรัฐฯ หรือโนอา (National Oceanographic and Atmospheric Agency: NOAA) ศึกษาวิจัยชั้นโอโซนพบว่า ถูกทำลายลงเนื่องจากก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์มากที่สุด และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกในศตวรรษด้วย ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าวในวารสารไซน์ (Science)

เอเอฟพีระบุว่า เอ อาร์ ราวิชาญคารา (A. R. Ravishankara) หัวหน้าแผนกเคมีของโนอา ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยครั้งนี้ เปิดเผยในวารสารไซน์ว่า ความพยายามในการลดสารซีเอฟซี (chlorofluorocarbons: CFCs) ในชั้นบรรยากาศตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา นับเป็นความสำเร็จหนึ่งในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ทว่ากลับมีปัญหาก๊าซไนตรัสออกไซด์เกิดขึ้นแทน และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ เพราะเป็นตัวการสำคัญที่ไปทำลายลายชั้นโอโซน

ก่อนหน้านี้สารซีเอฟซีเป็นตัวการใหญ่ที่ทำร้ายชั้นโอโซน จนนานาชาติมีมติให้เลิกใช้สารดังกล่าว ตามข้อกำหนดในพิธีสารมอนทรีอัล (Montreal Protocol) เมื่อปี 2530 หลังจากนั้นไนตรัสออกไซด์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นปัญหาใหญ่แทนสารซีเอฟซี ทว่าไนตรัสออกไซด์ไม่ได้เป็นสารที่ถูกควบคุมภายใต้พิธีสารมอนทรีอัลด้วย แต่จัดเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ต้องลดปริมาณการปล่อยภายใต้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Potocol)

นักวิจัยยังระบุอีกว่าก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาทุกวันนี้ กลายเป็นสารเคมีที่ไปทำลายโอโซนมากที่สุด และคาดว่าสารดังกล่าวน่าจะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศ และเป็นปัญหาไปตลอดศตวรรษที่ 21 เลยทีเดียว ซ้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ไนตรัสออกไซด์ หรือที่รู้จักกันในนาม "ก๊าซหัวเราะ" (Laughing gas) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในยาชาหรือยาสลบ ถูกปลดปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์มากถึง 10 ล้านตันต่อปี ทั้งจากการเกษตร, การทำปศุสัตว์ , การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณที่ถูกปลดปล่อยออกมาทั้งหมด

ส่วนที่เหลือ 2 ใน 3 เป็นปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาโดยธรรมชาติ เช่น แบคทีเรียในดินและในมหาสมุทรบางชนิด ที่ย่อยสลายสารประกอบไนโตรเจนและปลอปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ออกมา

ไนตรัสออกไซด์ไปมีผลทำให้ชั้นโอโซนบางลง ซึ่งไนตรัสออกไซด์นั้น คล้ายกับสารซีเอฟซี คือเมื่อถูกปล่อยออกมาอยู่ใกล้พื้นผิวโลกจะมีความเสถียร แต่เมื่ออยู่ใกล้กับบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์จะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen oxide) และทำลายชั้นโอโซนที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันของสิ่งมีชีวิตบนโลก ไม่ให้ได้รับอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลตที่มาจากดวงอาทิตย์ หากชั้นโอโซนบางลงมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตผ่านลงมายังพื้นผิวโลกได้มากขึ้นก็จะเป็นอันตรายต่อทั้งพืชและสัตว์บนโลก

ทีมวิจัยชี้ว่า การควบคุมการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์สามารถช่วยกู้ชั้นโอโซนให้กลับคืนมาได้ เหมือนดังเช่นตลอดช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ที่เราสามารถลดการทำลายชั้นโอโซนได้จากการควบคุมการปล่อยสารซีเอฟซีภายใต้พิธีสารมอลทรีอัล ซึ่งหากเราสามารถลดอัตราการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ลงได้ก็จะเป็นผลดีต่อทั้งชั้นโอโซนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ.
Home | Site Map | RSS Subscribe | Go to top