"สรีสมุย" รีสอร์ทอินทรีย์มาตรฐาน "Eco-Social" แห่งแรกในเอเชีย - ข่าวอุตสาหกรรม [Industrial News]

Wednesday, September 16, 2009 at 12:25 AM

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 กันยายน 2552 23:58 น.

นายชัชพล พิทยาธิคุณ
บรรยากาศโดยรอบวิลล่าภายในสรีสมุย รีสอร์ท
ด้านหน้าวิลล่ามีป้ายไม้บอกหมายเลขห้อง พร้อมตกแต่งด้วยระฆัง
บานประตูและหน้าต่างของวิลล่าทำด้วยไม้โดยช่างฝีมือท้องถิ่นของไทย ในภาพถ่ายจากด้านในวิลลา
เพิ่มพื้นที่สีเขียวในแต่ละวิลล่า เพิ่มความสดชื่น ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ให้แขกที่มาพัก
ห้องนั่งเล่นภายในวิลล่าแยกเป็นสัดส่วนจากห้องนอน มีบานหน้าต่างหันออกสู่ทะเล สามารถเปิดรับลมธรรมชาติได้เต็มที่ ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศได้มาก
ภายในบริเวณห้องนอนที่แยกเป็นสัดส่วนเพื่อลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น
ภาชนะบรรจุสบู่เหลวและแชมพูทำจากเซรามิกแทนการใช้พลาสติก
อ่างอาบน้ำแบบโอเพน เปิดรับธรรมชาติเพิ่มความสุนทรีย์ขณะอาบน้ำ
บรรยากาศของร้านอาหารอินทรีย์ภายในสรีสมุย รีสอร์ท มุงหลังคากระเบื้องดินเผา ตกแต่งด้วยโคมไฟกระดาษ หัตถกรรมฝีมือคนไทย
เมื่อพูดถึงเกษตรอินทรีย์ ผักปลอดสารเคมีคงเป็นสิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่มักนึกถึง และใช่ว่าจะมีเพียงแค่การเกษตรเท่านั้นที่จะเป็นอินทรีย์ได้ แต่ธุรกิจการท่องเที่ยวเดี๋ยวนี้ก็เริ่มให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของธุรกิจรีสอร์ทเกษตรอินทรีย์ และ "สรีสมุย" ก็เป็นรีสอร์ทเกษตรอินทรีย์แห่งแรกในเอเชียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน "Eco-Social" จากยุโรป

"สรีสมุย รีสอร์ท" (Saree Samui Resort) รีสอร์ทริมชายหาดแม่น้ำ ต.แม่น้ำ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ชื่อนี้อาจยังไม่เป็นที่คุ้นหูหรือรู้จักกันแพร่หลายมากนัก เพราะเพิ่งเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่รีสอร์ทแห่งนี้ มีความโดดเด่นเฉพาะตัว และถือเป็นต้นแบบรีสอร์ทเกษตรอินทรีย์ของไทยที่ได้มาตรฐานอีโคโซเชียล (Eco-Social) จากไบโออะกริเสิร์ท (BioAgriCert) ประเทศอิตาลี ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของรีสอร์ทแห่งนี้เมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และสื่อมวลชนอีกจำนวนหนึ่ง

นายชัชพล พิทยาธิคุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จิตตรงเรียลเอสเต็ด จำกัด เจ้าของและผู้ริเริ่มโครงการสรีสมุยรีสอร์ท ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า เดิมทีครอบครัวทำธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ และอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มบริษัทซีพีพีกรุ๊ป (CPP Group) และต้องการขยายสู่ธุรกิจท่องเที่ยวที่ยังไม่ค่อยมีใครทำกันมากนักในเมืองไทยและให้ประโยชน์ต่อสังคมด้วย จึงเป็นที่มาของการสร้างรีสอร์ทเกษตรอินทรีย์

จากการศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจรีสอร์ทเกษตรอินทรีย์ในยุโรปมากว่า 14 ปี ทำให้เห็นว่าธุรกิจรีสอร์ทเกษตรอินทรีย์ในยุโรปเติบโตดีมาก ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในอังกฤษ อิตาลี และเยอรมนี ทั้งยังมีระบบการรับรองรีสอร์ทเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานด้วย ขณะที่ในประเทศไทยก็เริ่มมีรีสอร์ทเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการจัดทำมาตรฐานรีสอร์ทเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรม มีแต่มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อการส่งออก

ประกอบกับความชอบทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก นายชัชพลจึงตั้งเป้าจะสร้างรีสอร์ทเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 5 แห่ง ภายใต้แนวคิดการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่นนั้นๆ โดยเริ่มต้นที่เกาะสมุยเป็นแห่งแรก ซึ่งไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอะไรมากมายในการก่อสร้าง แต่เน้นการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุที่ช่วยลดการใช้พลังงานได้มากที่สุด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชน

"เราไม่ใช่คนสมุย แต่เป็นคนนอกที่เข้ามาใช้พื้นที่เขา เมื่อเข้ามาในพื้นที่เขาก็ต้องเคารพเขา เคารพสถานที่ และต้องดูแลสภาพแวดล้อมของเขาให้ดี ฉะนั้นการดำเนินงานทุกอย่างของรีสอร์ทจะต้องได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้าน ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุต่างๆ ต้องทำให้เขายอมรับ และไม่คิดว่าเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอมในพื้นที่ของเขา และมีการแบ่งปันรายได้ให้กับชุมชนในรูปแบบต่างๆ" นายชัชพล กล่าว

สรีสมุยอยู่บนพื้นที่รวม 9 ไร่ ได้รับการออกแบบเน้นให้รับลมธรรมชาติ โดยแต่ละวิลลาจะมีประตูและหน้าต่างบานใหญ่ที่เปิดรับลมธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบ ภายในวิลลามีพื้นที่สีเขียวเพิ่มความสดชื่นสบายตา ออกแบบพื้นที่ใช้สอยแยกเป็นสัดส่วนเพื่อลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น ห้องอาบน้ำแบบเปิดที่รับแสงรับลมและใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่งการออกแบบลักษณะนี้สามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 62% เมื่อเทียบกับห้องพักแบบปิดที่มีขนาดเท่ากัน

ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างและประดับตกแต่งก็ล้วนเป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นโดยอุตสาหกรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ และแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย เช่น หลังคากระเบื้องดินเผาปั้นมือปราศจากสารเคลือบอันตราย, บานประตูและหน้าต่างไม้จากช่างฝีมือท้องถิ่น, ทางเดินเท้าจากอิฐรอบเตาเผาที่เหลือใช้, สระว่ายน้ำปูพื้นด้วยกระเบื้องเซรามิคทำมือ รวมถึงวัสดุตกแต่งอื่นๆ ก็ล้วนมาจากช่างฝีมือท้องถิ่น และที่สำคัญคือไม่ใช้ขวดน้ำพลาสติก และวัสดุอื่นๆ ที่ทำจากพลาสติก ยกเว้นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้พลาสติกจริงๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ ร้านอาหารภายในรีสอร์ท ยังดำเนินการในรูปแบบร้านอาหารอินทรีย์ โดยเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากการผลิตด้วยเกษตรอินทรีย์บนเกาะสมุยหรือจากแหล่งผลิตใกล้เคียง และในอนาคตเตรียมจะขยายพื้นที่สำหรับการเกษตรอินทรีย์ เพื่อผลิตวัตถุดิบให้กับร้านอาหารอินทรีย์ของรีสอร์ทโดยตรงด้วย โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าภายในปลายปีนี้จะเริ่มได้ผลผลิต เช่น ผักสลัด ไข่ไก่ พืชผักสมุนไพร และมะพร้าว เป็นต้น

ด้วยนโยบายและการดำเนินงานในรูปแบบดังกล่าวที่ไม่ทำให้พื้นที่ดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปมากนัก สรีสมุยจึงได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco-Social จากยุโรปเป็นแห่งแรกในเอเชีย

"ต้องการทำรีสอร์ทเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานยุโรป เพราะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าชาวยุโรปที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนไทยก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าต่างชาติ รวมถึงต้องการที่จะทำความเข้าใจว่ามาตรฐานของเขาต่างกับของเราอย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงย่อมแตกต่างกันอยู่แล้วด้วยภูมิประเทศที่แตกต่างกัน และไทยเราก็ยังไม่มีมาตรฐานในเรื่องนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยต้องสร้างมาตรสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา โดยพิจารณาว่าเรามีจุดเด่นในด้านใด และสิ่งไหนที่เราจำเป็นต้องทำบ้าง" นายชัชพล กล่าว

เจ้าของสรีสมุยเสนอแนะว่ารัฐบาลควรจะให้ความสำคัญและส่งเสริมในเรื่องนี้ เพราะจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและเศรษฐกิจได้มาก รวมทั้งมีผลดีในด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ดังเช่นที่รัฐบาลอังกฤษเริ่มให้การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์อย่างมาก เพราะเล็งเห็นแล้วว่าการลงทุนให้กับเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นช่วยลดการสูญเสียงบประมาณในการสาธารณสุขและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไปได้เป็นจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม สรีสมุยไม่ใช่รีสอร์ทเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของซีพีพีกรุ๊ป และยังไม่ใช่รีสอร์ทเกษตรอินทรีย์ที่สมบูรณ์แบบ 100% เพราะยังต้องพึ่งพาพลังงานจากการไฟฟ้าอยู่ส่วนหนึ่ง ประกอบกับต้นทุนของรีสอร์ทหรือผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ยังสูงกว่าทั่วไปมาก และยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพของคนไทยในปัจจุบัน ขณะที่รีสอร์ทอินทรีย์แห่งแรกที่เคยทำเมื่อหลายปีก่อนไม่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ถึงอย่างนั้นนายชัชพลก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะบุกเบิกธุรกิจรีสอร์ทอินทรีย์ในประเทศไทย และตั้งใจจะทำให้รีสอร์ทเกษตรอินทรีย์ที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้ในอนาคต

"ผมมองว่าแนวโน้มในอนาคตผู้คนจะยิ่งสนใจและให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น และคิดว่าจะเดินหน้าต่อไป เพราะว่าเป็นการลงทุนที่ไม่สูญเปล่าในเชิงของสังคม และที่สำคัญยังทำให้เราได้ความสุขทางใจ" นายชัชพล กล่าวทิ้งท้าย
Home | Site Map | RSS Subscribe | Go to top