พิสูจน์ความฟิตกับชุดทดสอบสมรรถภาพฝีมือเด็กไทย - ข่าวอุตสาหกรรม [Industrial News]

Wednesday, September 16, 2009 at 1:30 AM

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 กันยายน 2552 00:03 น.

สมาชิกทีม Performer สาธิตการทดสอบวัดความอ่อนตัวของร่างกาย
สมาชิกทีม Performer
กับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬา
ของวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบสาธิตการทำงานเครื่องทดสอบความแข็งแรงของกล้ามหน้าท้อง
นายวิญญู ดิษฐ์เจริญ จากวิทยาลัยการอาชีพศรีบุญเรือง กับ เครื่องฝึกซ้อมกีฬาเทเบิลเทนนิส
ดร.สุวัตร สิทธิหล่อ
ตัวแทนวิทยาลัยการอาชีพดอกคำใต้สาธิตการทดสอบความแข็งแรงกล้ามเนื้อท้อง
เห็นเครื่องทดสอบสมรรถภาพร่างกายนำเข้าจากต่างประเทศมาก็มาก วันนี้ถึงเวลาพิสูจน์ความฟิตกับชุดทดสอบ 7 สถานีของนักศึกษาไทย ที่วัดความแกร่งของพละกำลัง ทั้งการวิ่ง กระโดด ยืดหยุ่น ดึงข้อ ลุก-นั่ง นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬาที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีประกวดสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา

"เครื่องทดสอบสมรรถภาพร่างกาย 7 สถานี" เป็นผลงานของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ส่งเข้าแข่งขันในเวทีประกวดนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ประจำปี 2552 ของสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 30 ผลงาน และผ่านการคัดเลือกแล้วคว้ารางวัลชนะเลิศในระดับอุดมศึกษา

นายทศชัย อินดี นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกทีม Performer ที่ประดิษฐ์เครื่องทดสอบสมรรถภาพร่างกาย 7 สถานีอธิบายกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เครื่องดังกล่าวสามารถวัดความแข็งแรงของร่างกายได้ 7 อย่างจากการทดสอบ 1.วิ่งระยะ 50 เมตร 2.วิ่งระยะ 1,000 เมตร 3.กระโดดไกล 4.วัดความอ่อนตัวของร่างกาย 5.วิ่งเก็บของ 6.ดึงข้อ และ 7.ลุก-นั่ง 30 วินาที

เครื่องทดสอบสมรรถภาพร่างกายมีอุปกรณ์สำคัญคือ เซนเซอร์วัดรังสีอินฟราเรดซึ่งใช้วัดการวิ่ง ลุก-นั่ง ดึงข้อ ซึ่งมีอุปกรณ์รับและส่งรังสีอินฟราเรดที่ติดตั้งในทิศทางตรงข้ามกัน เมื่อผู้ทดสอบวิ่งผ่านหรือเคลื่อนไหวผ่านจะตัดสัญญาณ จากนั้นวงจรอิเล็กทรอนิกส์จะบันทึกเวลาในการวิ่งหรือหรือนับเป็นจำนวนครั้งในการลุก-นั่งหรือดึงข้อ และอุปกรณ์สำคัญอีกตัวคือเซนเซอร์วัดคลื่นอัลตราโซนิก ซึ่งใช้วัดความอ่อนตัวของร่างกายและการกระโดดไกล โดยอาศัยการคำนวณระยะทางจากคลื่นอัลตราโซนิกที่ส่งไปกระทบกับร่างกายแล้วสะท้อนกลับมา

ข้อมูลการทดสอบร่างกายจากทั้ง 7 สถานีจะถูกส่งไปประมวลผลที่เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมกับข้อมูลเพศ อายุ น้ำหนักและส่วนสูงที่ต้องกรอกข้อมูลก่อนทดสอบร่างกายผ่านสัญญาณไร้สาย และวิเคราะห์ออกมาว่าผู้ทดสอบมีสมรรถภาพร่างกายอยู่ในระดับใด ทั้งนี้ทศชัยกล่าวการทดสอบทั้ง 7 อย่างเป็นมาตรฐานของการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ซึ่งทีมของเขานั้นได้นำมาตรฐานการทดสอบของคณะกรรมการสากลว่าด้วยมาตรฐานการทดสอบความแข็งแรงทางกายภาพ (International Committee for the Stanardization of Physical Fitness Tests: ICSPFT) เป็นเกณฑ์ในการวัดสมรรถภาพของผู้ทดสอบ

การประดิษฐ์เครื่องทดสอบสมรรถภาพร่างกายนี้ มีนิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วม 10 คนช่วยกันพัฒนาอุปกรณ์ในส่วนต่างๆ โดยแบ่งหน้าทีการพัฒนาออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านกลไก ที่ผู้รับผิดชอบทำหน้าที่ออกแบบอุปกรณ์ทดสอบให้ถูกหลักสรีระ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่รับผิดชอบด้านออกแบบวงจรและไฟเลี้ยง ซึ่งต้องทำงานร่วมกันกับทีมพัฒนาด้านไมโครคอนโทรลเลอร์ที่ดูแลเรื่องหน่วยประมวลผลกลางและการส่งข้อมูลการทดสอบผ่านสัญญาณไร้สาย

ด้านสุดท้ายคือด้านฐานข้อมูลที่ผู้ดูแลมีหน้าที่เขียนโปรแกรมเพื่อรับข้อมูลจากผู้ใช้ทั้งอายุ เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง และการส่งข้อมูลเหล่านี้ไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลเพื่อใช้ประมวลผลร่วมกับผลการทดสอบ รวมทั้งจัดทำข้อมูลในการส่วนข้อแนะนำวิธีปฏิบัติตัวสำหรับผู้ทดสอบในระดับต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องทดสอบสมรรถภาพร่างกาย 6 อย่างของวิทยาลัยการอาชีพดอกคำใต้ จ.พะเยา ที่คว้ารางวัลชนะเลิศในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีการทดสอบที่แตกต่างไปจากนวัตกรรมของระดับอุดมศึกษาคือ 1.ทดสอบพลังกล้ามเนื้อแขนและหัวไหล่จาการวิดพื้น 2.วัดพลังกล้ามเนื้อขาจากการกระโดดไกล 3.วัดความแข็งแรงกล้างเนื้อหน้าท้องโดยการลุก-นั่ง 4.วัดความคล่องตัวในการวิ่งกลับตัว 5.ทดสอบความอ่อนตัวและ 6.ทดสอบการตอบสนองระหว่างสายตาและเท้า โดยให้ผู้ทดสอบกระโดดบนแท่นที่มีเซนเซอร์สวิตช์เมื่อเห็นแผ่นป้ายสีเขียว

นายปิยศักดิ์ สะสันเทียะ นักศึกษา ปวช.2 วิทยาลัยการอาชีพดอกคำใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมที่ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือทดสอบสมรรถภาพร่างกายนี้กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า โดยปกติจะออกกำลังกายเป็นประจำร่วมกับเพื่อนๆ ในสถาบันอยู่แล้ว จึงอยากพัฒนาอุปกรณ์ที่จะช่วยวัดความแข็งแรงของร่างกายได้ ซึ่งเกณฑ์ในการประมวลความแข็งแรงของผู้ทดสอบนี้อ้างอิงมาตรฐานของสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา

อีกทั้งยังมีนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาอื่นๆ ที่ได้เข้าร่วมตัดสินการแข่งขันครั้งนี้ อาทิ เครื่องฝึกซ้อมกีฬาเทเบิลเทนนิส จากวิทยาลัยการอาชีพศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งนายวิญญู ดิษฐ์เจริญ นักศึกษา ปวช.2 ผู้เป็นหนึ่งในทีมผู้ประดิษฐ์กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า เครื่องดังกล่าวช่วยผู้ที่ต้องการฝึกซ้อมกีฬาเทเบิลเทนนิสในขั้นพื้นฐานแต่ขาดคู่ซ้อมได้ โดยมีเครื่องยิงลูกปิงปองได้ต่อเนื่อง 50 ลูก และเลือกระดับความเร็วได้ 2 ระดับ คือระดับช้าที่มีความเร็ว 0.8 ลูกต่อวินาที และระดับเร็วที่มีความเร็ว 1.2 ลูกต่อวินาที

เครื่องทดสอบความแข็งแรงของกล้ามหน้าท้องของวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นอีกนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬาในระดับอาชีวศึกษาที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ โดยวัดทดสอบจากการลุก-นั่งเป็นเวลา 30 วินาที และใช้การจับภาพศรีษะจากกล้องที่วางไว้ใน 2 ตำแหน่งคือบริเวณศรีษะเมื่อนอนราบ และบริเวณศรีษะเมื่อลุกนั่ง จากนั้นนำจำนวนครั้งไปคำนวณร่วมกับข้อมูลเพศ อายุ น้ำหนัก แล้วประมวลผลออกมาเป็นความแข็งแรงของหน้าท้อง

ด้าน ดร.สุวัตร สิทธิหล่อ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กล่าวว่าคนทั่วไปทราบดีว่าวิทยาศาสตร์การกีฬานั้นมีประโยชน์ แต่ไม่ทราบว่ามีประโยชน์อย่างไร ซึ่งการแข่งขันนวัตกรรมครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนให้วิทยาศาสตร์การกีฬาออกมาเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เชื่อว่าคนไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้แต่ขาดเวทีให้แสดงความสามารถ การแข่งขันนี้เป็นเวทีกระตุ้นให้นักศึกษาอาชีวะและมหาวิทยาลัยได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และลดการนำเข้าเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา

"แต่ละปีสถานบริการฟิตเนสต่างๆ นำเข้ามาเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท แต่นวัตกรรมของนักศึกษาแสดงให้เห็นว่าสามารถประดิษฐ์เครื่องมือที่มีมูลค่าเพียง 10,000-20,000 บาทได้ ซึ่งถ้าผลิตได้ราคาถูกเครื่องมือเหล่านี้ก็จะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น อบต.ต่างๆ ก็จะนำไปใช้ ซึ่งเป้าหมายสุงสุดของเราคือประชาชนได้รับโอกาสในการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามากขึ้น" ดร.สุวัตรกล่าว และบอกว่าการจัดแข่งขันในปีถัดไปจะได้เชิญตัวแทนจากภาคเอกชนเข้าร่วม เพื่อให้เกิดการต่อยอดผลงานของเยาวชนเหล่านี้ต่อไป ซึ่งหลายผลงานเขาเห็นว่าสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้
Home | Site Map | RSS Subscribe | Go to top